การสูญเสียฟันหน้าหรือฟันซี่ข้างเคียงไปบางซี่มีผลต่อการใช้ชีวิตมากกว่าที่คิดนะคะ นอกจากจะมีผลในเรื่องของความมั่นใจที่ลดลงเวลายิ้มหรือพูดคุยกับคนอื่นแล้ว ยังมีผลต่อการรับประทานอาหารที่ทำได้ไม่เต็มที่ แถมยังเสี่ยงต่อภาวะฟันล้มในอนาคตได้อีกด้วย ดังนั้นหากคุณมีงบในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากประมาณหนึ่งและต้องการฟันซี่ใหม่ที่มีความใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากที่สุด การทำรากเทียมถือเป็นคำตอบที่น่าสนใจไม่น้อย ว่าแต่วิธีการรักษาแบบนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง เดี๋ยววันนี้หมอณัฐจะมาเล่าให้ฟังค่ะ
9 ข้อดี ข้อเสียของการทำรากเทียม
1. ได้ความมั่นใจที่เพิ่มขึ้น
เนื่องจากการทำรากเทียมเป็นการแก้ปัญหาฟันที่สูญเสียไปด้วยการฝังรากเทียมเข้ากับกระดูกขากรรไกรให้ตรงกับตำแหน่งที่สูญเสียฟันเเละรากฟัน แล้วค่อยทำครอบฟันหรือฟันปลอมยึดติดกับรากเทียม จึงช่วยให้คนไข้บดเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่งถ้าคนไข้คนไหนสูญเสียฟันหน้าไปด้วย การทำรากเทียมและติดฟันปลอมควบคู่กันไปด้วยจึงช่วยคนไข้ยิ้มได้อย่างมั่นใจเหมือนตอนที่ยังไม่สูญเสียฟันได้อีกด้วยค่ะ นอกจากนี้รากเทียมยังมีคุณสมบัติที่เหมือนฟันธรรมชาติทุกประการเพราะรากเทียมเป็นฟันปลอมแบบติดแน่น จึงไม่ต้องกังวลเวลาเคี้ยว พูดคุย หรือยิ้มเลย แตกต่างจากฟันปลอมแบบถอดได้ที่มีข้อควรระวังในการใช้งานพอสมควร แถมยังให้ความรู้สึกไม่เป็นธรรมชาติอีกด้วยค่ะ
2. ไม่เกิดปัญหากับฟันข้างเคียง
การทำรากเทียมเป็นเทคนิคที่ไม่จำเป็นต้องกรอฟันซี่ข้างเคียง จึงไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียเนื้อฟันธรรมชาติ ฟันซี่ข้าง ๆ จึงไม่ผิดรูปไปจากเดิม เพราะหากสูญเสียเนื้อฟันซี่ข้าง ๆ ไปก็จะทำให้ฟันเกิดช่องว่างและฟันเคลื่อนตัวจนกลายเป็นปัญหาฟันล้มได้ด้วยค่ะ นอกจากนี้ตัวรากเทียมจะประสานตัวกับกระดูกขากรรไกรจนแนบสนิทเพื่อรองรับฟัน ช่วยให้ฟันปลอมไม่เลื่อนหลุดออกจากจุดที่หมอฟันวางแผนไว้และไม่ไปเบียดหรือดันฟันซี่ข้างเคียงจนเกิดปัญหาตามมาด้วยค่ะ
3. สามารถทำได้ทันที
กรณีที่คนไข้สูญเสียฟันซี่หน้าเนื่องจากมีปัญหาฟันผุหรือเกิดอุบัติเหตุบริเวณฟันจนไม่สามารถรักษาให้เหมือนเดิมได้อีก ก็สามารถทำรากเทียมหลังสูญเสียฟันหรือหลังจากถอนฟันซี่นั้นได้ทันทีค่ะ ซึ่งวิธีการทำรากเทียมแบบนี้คุณหมอจะทำการใส่รากฟันเทียมให้ทันทีหลังจากถอนฟันเสร็จ แล้วค่อยรอให้รากฟันเทียมยึดติดกับกระดูกเป็นเวลา 3-6 เดือน จากนั้นคุณหมอจะนัดคนไข้มาทำครอบฟันหรือทำสะพานฟัน
4. มีความทนทานสูง
เนื่องจากวัสดุที่ใช้ทำรากเทียมมีความแข็งแรงทนทานสูงและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หากคนไข้ดูแลสุขภาพช่องปากได้ดี แปรงฟันทุกวิธี รับประทานอาหารที่ไม่แข็งและไม่เหนียวเกินไป งดอาหารทำร้ายฟัน เช่น ขนมหวาน น้ำอัดลม เนื้อเหนียว ๆ และที่สำคัญหากคนไข้เข้าพบหมอฟันเป็นประจำทุก ๆ 6 เดือน เพื่อตรวจเช็กสุขภาพช่องปากโดยรวม ก็จะทำให้รากเทียมมีอายุการใช้งานที่ยืนยาว สามารถใช้งานได้ตลอดชีวิตเลยค่ะ
5. ค่าใช้จ่ายสูง
เนื่องจากเทคนิคนี้จะต้องใช้วัสดุคุณภาพดี นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงหลังทำรากเทียม บวกกับตัววัสดุที่ใช้ทำรากเทียมนั้นมีหลายชิ้น และที่สำคัญยังต้องทำการผ่าตัดโดยแพทย์เฉพาะทางด้านรากเทียมเท่านั้น และทั้งหมดที่กล่าวมาจึงทำให้การทำรากเทียมมีค่าบริการที่สูงกว่าการทำฟันปลอมแบบถอดได้และสูงกว่าบริการทางทันตกรรมหลาย ๆ บริการ
6. กระดูกที่รองรับต้องมีความมั่นคงพอสมควร
หากกระดูกสันเหงือกของคนไข้ไม่แข็งแรงพอ อาจทำให้รากเทียมรับแรงบดเคี้ยวได้ไม่เต็มประสิทธิภาพและเสี่ยงต่อการทำรากเทียมใหม่อีกรอบ ดังนั้นคุณหมอจะตรวจดูกระดูกก่อนว่าแข็งแรงพอที่จะทำรากเทียมหรือไม่ หากคุณหมอตรวจดูแล้วพบว่าคนไข้มีกระดูกสันเหงือกบางจนไม่สามารถใส่รากฟันเทียมได้ คุณหมอจะทำการปลูกกระดูก (Bone Grafting) ให้แข็งแรงก่อนทำรากเทียม โดยกระดูกที่ใช้อาจเป็นกระดูกจากส่วนอื่นของร่างกายหรือจะเป็นกระดูกสังเคราะห์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของคุณหมอค่ะ
7. เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน
ขึ้นชื่อว่าเป็นการผ่าตัดย่อมเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำรากเทียมได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะติดเชื้อบริเวณที่ทำรากเทียม, เกิดอาการบาดเจ็บรอบ ๆ โครงสร้างช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นตัวฟันซี่ข้าง ๆ เส้นเลือด หรือบริเวณเส้นประสาทที่ทำให้เกิดอาการปวดหรือชาในช่องปากได้ด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลต่อไซนัส (Paranasal Sinuses) ที่ตัวรากเทียมอาจทะลุมายังไซนัสได้อีกด้วยค่ะ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองหลังการรักษาอีกด้วยค่ะ หากคนไข้ยังมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็อาจทำให้แผลผ่าตัดหายช้าและเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนง่ายกว่าคนทั่วไปอีกด้วยค่ะ
8. ไม่เหมาะสำหรับกลุ่มคนบางประเภท
แม้ว่าการทำรากเทียมจะช่วยรักษาปัญหาฟันได้ แต่ไม่ได้เหมาะกับกลุ่มคนบางประเภท เนื่องจากการทำรากเทียมนั้นคนไข้จะต้องมีสุขภาพเหงือกที่แข็งแรงและมีกระดูกมากพอในการรองรับรากฟัน ดังนั้นจึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี เนื่องจากขากรรไกรยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่และเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาหลังทำรากเทียม นอกจากนี้ยังไม่เหมาะกับคุณแม่ที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์และผู้ทีมีโรคประจำตัว เช่น โรคมะเร็งบางชนิดที่ต้องฉายรังสีไปที่ใบหน้าและช่องปาก โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคปริทันต์อักเสบขั้นรุนแรง และผู้ป่วยรับยากดภูมิคุ้มกัน เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงระหว่างทำรากเทียมได้ค่ะ และที่สำคัญยังขึ้นอยู่กับการดูแลทำความสะอาดช่องปากด้วยนะคะ หากคุณดูแลช่องปากไม่ดีพอ หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอกอฮอล์เป็นประจำ ก็อาจก่อให้เกิดโรคเหงือกอักเสบที่สร้างความยุ่งยากต่อการทำรากเทียมได้ด้วยค่ะ
9. แก้ไขยาก หากทำกับทันตแพทย์ที่ไม่เชี่ยวชาญ
เนื่องจากการทำรากเทียมมีขั้นตอนมากมายและต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น หากคนไข้บังเอิญได้ทำกับแพทย์ที่ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน เช่น แพทย์ประเมินว่าทำรากเทียมได้เลยทั้ง ๆ ที่กระดูกสันเหงือกบาง ก็อาจเสี่ยงต่อความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นและต้องกลับมาทำรากเทียมซ้ำอีกรอบ แถมยังสร้างความยุ่งยากเป็นอย่างมากให้แก่คุณหมอที่ต้องมานั่งแก้และทำรากเทียมใหม่อีกด้วยนะคะ ดังนั้นหากจะทำรากเทียมจริง ๆ ควรศึกษาประวัติการรักษาของหมอฟันที่เรากำลังจะทำรากเทียมด้วยนะคะว่ามีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในการทำรากเทียมมาแล้วกี่เคส มีรีวิวไปในทิศทางที่ดีหรือไม่ สถานพยาบาลหรือคลินิกที่เรากำลังจะทำรากเทียมมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของตัวคนไข้เองค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
- ฟันแท้โยก ดึงออกเองได้ไหม ต้องถอนฟันออกหรือเปล่า
- ฟันล้มหลังจัดฟันเกิดจากอะไร ทำไมต้องใส่รีเทนเนอร์ตลอดเวลา
- ทำไมฟันเปลี่ยนสี มีวิธีทำให้ฟันกลับมาขาวอีกครั้งไหม
ทำรากเทียมที่ไหนดี ทำไมต้อง Toothluck Dental Clinic
หากคุณมีปัญหาช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นฟันซ้อนฟันเก ฟันห่าง ฟันสบผิดปกติ หรือกำลังมองหาคลินิกสำหรับดูแลฟัน เรา Tooth Luck Detal Clinic เป็นคลินิกทันตกรรมสำหรับเด็กและทุกคนในครอบครัว เรามีทีมทันตแพทย์พร้อมให้บริการทันตกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจัดฟัน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ฟอกสีฟัน ขูดหินปูน อุดฟัน รักษารากฟัน รากฟันเทียม วีเนียร์ ฟันปลอม และบริการทันตกรรมสำหรับเด็ก มาพร้อมเครื่องมือที่ทันสมัย ได้มาตรฐาน และครบครัน ทั้งนี้ก็เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ๆ และชาวจังหวัดขอนแก่นอย่างแท้จริง
อุดฟันหน้าเจ็บมั้ย อยู่ได้นานแค่ไหน ดูแลอย่างไรให้ฟันแข็งแรง
แม้ว่าฟันจะขึ้นชื่อในเรื่องของความแข็งแรง หากดูแลสุขภาพช่องปากอย่างเหมาะสมก็อาจทำให้ฟันอยู่คู่กับช่องปากของเราไปได้ตลอดชีวิตเลยทีเดียว [...]
จัดฟันซ้อนเก มีเขี้ยว ใช้เวลานานไหม จัดฟันแบบไหนช่วยได้บ้าง
ฟันซ้อนเก มีเขี้ยว [...]
ปักหมุดจัดฟันคืออะไร เจ็บไหม เหมาะกับปัญหาฟันแบบไหน
จริงอยู่ที่การจัดฟันจะเน้นการใช้เครื่องมือจัดฟันเป็นหลัก แต่หากคนไข้มีปัญหาฟันเรียงตัวผิดปกติบางประเภทก็อาจจำเป็นต้องใช้หมุดจัดฟันเข้าร่วมด้วย [...]
รากฟันเทียมหลุด เกิดจากอะไร มีวิธีดูแลและป้องกันอย่างไร
แม้ว่าคุณจะเคยผ่านการทำรากฟันเทียมมาแล้ว แต่หากวันนึงรากฟันเทียมเกิดหลุดขึ้นมาก็อาจทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมาก [...]
ขี้ผึ้งจัดฟัน คืออะไร ทำไมคนจัดฟันต้องพกติดตัวไว้
เมื่อเริ่มจัดฟันแล้วคุณหมอจะให้ขี้ผึ้งจัดฟันเอาไว้ทาบนเครื่องมือจัดฟัน ว่าแต่ทำไมต้องเป็นขี้ผึ้งด้วย [...]
จัดฟันเหงือกบวม หายเองได้หรือไม่ แก้ยังไงดี
แม้ว่าการจัดฟันจะช่วยแก้ปัญหาฟันเรียงไม่เป็นระเบียบที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพฟันตามมาได้ แต่ในช่วงระหว่างการจัดฟันนั้นคนไข้อาจต้องรับมือกับความผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นภายในปาก [...]