ฟันน้ำนมคือฟันแบบไหน ดูแลฟันลูกน้อยอย่างไรให้แข็งแรง

ฟันน้ำนม

แม้ว่าฟันน้ำนมจะเป็นฟันที่ใครหลายคนมองข้ามเพราะมันจะหลุดออกเองตามธรรมชาติเมื่อถึงเวลาตามช่วงวัย แต่รู้หรือไม่คะว่าฟันชนิดนี้จัดเป็นฟันชุดแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นรากฐานสำคัญให้ฟันแท้ที่กำลังจะงอกขึ้นมาในอนาคตเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบและไม่สร้างปัญหาในช่องปากในระยะยาวอีกด้วยนะคะ ว่าแต่ฟันชนิดนี้จะงอกขึ้นมาตั้งแต่อายุเท่าไหร่ มีวิธีดูแลรักษาและทำความสะอาดอย่างไรให้ฟันแข็งแรงและอยู่ในช่องปากได้นานที่สุดโดยที่ไม่มีปัญหาตามมาเมื่อฟันแท้งอก มาอ่านกันเลยค่ะ

ฟันน้ำนมคืออะไร

เป็นฟันชุดแรกที่ขึ้นมาภายในช่องปากโดยฟันน้ำนมคู่แรกจะเป็นฟันซี่หน้าด้านล่างซึ่งจะงอกขึ้นมาเมื่อมีอายุประมาณ 6 เดือนและทยอยงอกขึ้นมาเรื่อย ๆ จนครบ 20 ซี่เมื่อถึงอายุประมาณ 6 – 7 ปี ฟันชนิดนี้ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหาร ช่วยให้ออกเสียงพูดบางคำชัดเจนขึ้น อีกทั้งกระตุ้นให้กระดูกรองรับฟันเจริญเติบโตและขยายตัวเพื่อเอื้อความสะดวกให้ฟันแท้ที่กำลังจะงอกขึ้นมาในอนาคต หากลูกน้อยสูญเสียฟันน้ำนมในช่องปากมากเกินไป อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตโดยรวมทั้งในเรื่องของการได้รับสารอาหารน้อยเกินไปเพราะระบบบดเคี้ยวทำงานได้ไม่เต็มที่จนกลายเป็นปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้เด็กอาจมีพัฒนาการด้านการสื่อสารที่ช้ากว่าเพื่อนในวัยเดียวกันเนื่องจากออกเสียงไม่ชัด หรือแม้แต่เสียบุคลิกภาพและสูญเสียความมั่นใจในตัวเด็กเองอีกด้วยค่ะ

ทำไมต้องดูแลฟันน้ำนมให้ดี

ระหว่างที่ฟันน้ำนมงอกขึ้นมาและอยู่ในช่วงกำลังใช้งานนั้น ฟันแท้ก็เริ่มก่อตัวขึ้นภายในเหงือกเพื่อรอวันที่ฟันน้ำนมจะหลุดออกทีละซี่จนฟันแท้งอกขึ้นมาครบและใช้งานในระยะยาว หากเด็กสูญเสียฟันน้ำนมก่อนวัยอันควรอาจทำให้กระดูกและพื้นที่ในช่องปากลดลง ไม่มีฟันน้ำนมสำหรับเก็บพื้นที่เอาไว้ให้ฟันแท้งอกขึ้นมา ทำให้ฟันแท้ที่กำลังจะงอกขึ้นมาใหม่นั้นถูกเบียดและขึ้นมาผิดตำแหน่ง กลายเป็นฟันซ้อนฟันเกที่ทำความสะอาดยากและเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพช่องปากอย่างโรคเหงือกอักเสบ ฟันผุตามมา นอกจากนี้สารเคลือบฟันในฟันน้ำนมซึ่งสารที่ช่วยป้องกันไม่ให้เนื้อฟันเสียหายนั้นมีความแข็งแรงน้อยกว่าสารเคลือบฟันในฟันแท้ หากเด็กดูแลฟันน้ำนมไม่ดีอาจมีโอกาสฟันผุง่ายกว่าฟันแท้ในผู้ใหญ่ ดังนั้นการดูแลฟันน้ำนมให้ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็ก ๆ เอง รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับฟันน้ำนมด้วยค่ะ

ฟันน้ำนมหลุดก่อนวัย เกิดจากอะไรบ้าง

การสูญเสียฟันน้ำนมก่อนวัยอันควรถือเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในเด็กหลายคน โดยสาเหตุที่ทำให้ฟันน้ำนมหลุดออกมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น

  • ได้รับอุบัติเหตุ จนฟันหักหรือแตกโดยไม่ได้เข้ารับการรักษาจากหมอฟันภายใน 1 ชั่วโมง
  • ทำความสะอาดฟันน้ำนมผิดวิธี เช่น ใช้ไม้จิ้มฟันแทนแปรงสีฟัน หรือละเลยการทำความสะอาดช่องปากเป็นเวลานาน แปรงฟันน้อยกว่าวันละ 2 ครั้งต่อวัน
  • รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นขนมคบเคี้ยว น้ำหวาน น้ำอัดลม ลูกอม เฟรนช์ฟรายส์ ฯลฯ เนื่องจากน้ำตาลในอาหารจะทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียในช่องปากและสร้างกรดขึ้นมาทำลายผิวฟัน เมื่อฟันแข็งแรงน้อยลงส่งผลให้ฟันผุง่ายขึ้น
  • เด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำโดยไม่รู้ตัว เช่น ใช้ลิ้นดุนฟันบ่อย ๆ นอนกัดฟัน ติดการดูดขวดนม กัดฟันทุกครั้งเวลาโกรธหรือไม่พอใจ ทำให้ผิวฟันแข็งแรงน้อยลง

ข้อเสียของการสูญเสียฟันน้ำนมก่อนวัยอันควร

  • รับประทานอาหารลำบาก มีปัญหาระบบย่อยอาหารง่ายขึ้น
  • เมื่อเคี้ยวยากขึ้นก็ทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ส่งผลต่อพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน
  • สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้ายิ้มหรือพูดคุยกับคนอื่น กลายเป็นเด็กเก็บตัว ไม่กล้าเข้าสังคม
  • มีผลทำให้ฟันแท้ที่กำลังจะงอกขึ้นมาเรียงตัวไม่เป็นระเบียบอยู่ตามแนวขอบเหงือก กลายเป็นฟันซ้อนเกที่ทำความสะอาดยาก

ฟันน้ำนมหักทำอย่างไร

ฟันแท้หลุดถือเป็นปัญหาที่เด็กทุกคนต้องเจอ สำหรับวิธีเก็บรักษาฟันน้ำนมที่ถูกต้องจะต้องล้างฟันให้สะอาดก่อนจะหยิบฟันไปแช่ไว้ในน้ำเกลือหรือนมจืดประมาณ 10 วินาทีแล้วจึงใส่กลับเข้าไปในเบ้าฟันที่หลุดออกมา ทั้งนี้ ไม่ควรจับบริเวณรากฟันแท้ที่หลุดออกมา เพราะอาจทำให้คุณหมอต่อฟันแท้กลับเข้าที่ได้ยากขึ้นหรือต่อกลับไปเป็นเหมือนเดิมไม่ได้อีกค่ะ แต่ในกรณีที่ฟันได้รับความเสียหาย มีเลือดออกมาก ฟันสกปรกมาก หรือมีกระดูกแตกร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่จะต้องแช่ฟันที่หลุดออกมาในสารละลายที่เหมาะต่อการรักษารากฟันอย่างนมจืดไขมันต่ำแช่เย็น น้ำเกลือ หรือน้ำสะอาด เพื่อให้เซลล์ที่อยู่รอบผิวรากฟันยังคงมีชีวิตต่อได้ เมื่อแช่ฟันในสารละลายที่เหมาะสมแล้วให้รีบไปหาคุณหมอฟันโดยเร็วที่สุดภายใน 60 นาที เพราะหากไปช้ากว่านั้นอาจทำให้ฟันแท้ที่หลุดออกมาไม่สามารถต่อกลับเข้าไปยังเบ้าฟันได้และทำให้สูญเสียฟันแท้ซี่นั้นไปอย่างถาวร ส่งผลให้ฟันมีช่องว่างและฟันซี่ข้างเคียงเคลื่อนตัวผิดไปจากเดิมและล้มจนกลายเป็นปัญหาช่องปากตามมาได้ด้วยค่ะ

สำหรับวิธีการรักษาฟันน้ำนมหักสามารถทำได้ 2 แบบ ได้แก่ ใช้กาวต่อฟันที่หักภายใน 1 – 2 ชม. หากคุณหมอไม่สามารถต่อฟันได้ คุณหมอจะใช้วิธีอุดฟัน โดยการเอาเนื้อฟันที่ผุออกและทำความสะอาดส่วนที่สกปรกออก จากนั้นคุณหมอจะเติมวัสดุอุดฟันลงไปบนตัวฟันที่เสียหายเพื่อรักษาฟันที่ได้รับความเสียหายให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิมโดยที่มีรูปทรงเหมือนเมื่อก่อน สำหรับวัสดุที่ใช้ในการอุดฟัน ได้แก่ คอมโพสิตเรซิน, อมัลกัม และกลาสไอโอโนเมอร์

ฟันน้ำนมขึ้นตอนไหน

1. ฟันบน

  • ฟันหน้าซี่กลาง งอกขึ้นอายุ 8 เดือน และหลุดเมื่ออายุ 8 ปี
  • ฟันหน้าซี่ข้าง งอกขึ้นอายุ 9 เดือน และหลุดเมื่ออายุ 9 ปี
  • ฟันเขี้ยว งอกขึ้นอายุ 16 เดือน และหลุดเมื่ออายุ11 ปี
  • ฟันกรามซี่ที่ 1 งอกขึ้นอายุ 13 เดือน และหลุดเมื่ออายุ 10 ปี
  • ฟันกรามซี่ที่ 2 งอกขึ้นอายุ 25 เดือน และหลุดเมื่ออายุ 12 ปี

2. ฟันล่าง

  • ฟันหน้าซี่กลาง งอกขึ้นอายุ 6 เดือน และหลุดเมื่ออายุ 6 ปี
  • ฟันหน้าซี่ข้าง งอกขึ้นอายุ 10 เดือน และหลุดเมื่ออายุ 7 ปี
  • ฟันเขี้ยว งอกขึ้นอายุ 17 เดือน และหลุดเมื่ออายุ 9 ปี
  • ฟันกรามซี่ที่ 1 งอกขึ้นอายุ 14 เดือน และหลุดเมื่ออายุ 10 ปี
  • ฟันกรามซี่ที่ 2 งอกขึ้นอายุ 23 เดือน และหลุดเมื่ออายุ 11 ปี

ดูแลฟันน้ำนมอย่างไรให้แข็งแรง

ฟันน้ำนม

1. ทำความสะอาดช่องปากอย่างถูกวิธี

  • วางแปรงสีฟันลงบนผิวฟันโดยทำมุม 45 องศา ตรงรอยต่อระหว่างเหงือกและฟัน
  • ขยับแปรงสีฟันไปมาเบา ๆ โดยขัดไปตามแนวฟันและเหงือก สำหรับฟันบนให้แปรงปัดลง ส่วนฟันล่างให้แปรงปัดขึ้น
  • ถูแปรงเข้าไปในซอกฟันและกดแรงกดเล็กน้อยเพื่อเอาเศษอาหารเอาจากซอกฟันเท่าที่ทำได้ (หากเอาเศษอาหารออกจากซอกฟันไม่ได้ ให้ใช้ไหมขัดฟันหลังจากแปรงฟันเสร็จ)
  • ทำเช่นเดียวกันให้ทั่วโดยเริ่มจากฟันบนก่อน เมื่อแปรงฟันบนครบทุกซี่แล้วค่อยแปรงฟันล่างต่อ

หลายคนอาจเข้าใจผิดอยู่ว่าการแปรงฟันจะต้องจุ่มน้ำเข้ากับยาสีฟันหรือบ้วนปากทุกครั้งหลังแปรงฟันเสร็จ หมอณัฐขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่านั่นคือวิธีที่ผิดนะคะ เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้ฟลูออไรด์อยู่ในช่องปากไม่นานและฟลูออไรด์ทำงานได้ไม่เต็มที่ ฟันจึงไม่สะอาดเท่าที่ควร สำหรับการแปรงฟันที่ถูกต้องจะต้องแปรงแห้งนะคะ การแปรงแห้งคือการแปรงฟันโดยไม่ต้องบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดเพื่อให้ฟลูออไรด์คงอยู่ในช่องปากได้นานและทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ฟันแข็งแรงยิ่งขึ้น เมื่อแปรงแห้งเสร็จแล้วให้ใช้น้ำสะอาดเช็ดริมฝีปากที่เลอะยาสีฟันออกเพียงอย่างเดียว กรณีที่ยังไม่ชินกับการแปรงแห้ง หมอณัฐแนะนำให้เปลี่ยนจากการบ้วนน้ำมาเป็นการจิบน้ำเพียง 1 ช้อนชา แล้วกลั้วให้ทั่วปากแล้วค่อยบ้วนทิ้ง

ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกใช้ยาสีฟันที่มีปริมาณฟลูออไรด์เหมาะต่อเด็กในแต่ละช่วงวัยด้วยนะคะ หากเป็นเด็กที่อายุยังน้อยแนะนำให้เลือกยาสีฟันที่ไม่มีฟลูออไรด์เพื่อป้องกันเด็กกลืนยาสีฟันเข้าไปและทำให้ร่างกายได้รับปริมาณฟลูออไรด์มากไปจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย และที่สำคัญไม่ควรรับประทานน้ำหรืออาหารใด ๆ หลังจากแปรงฟันเสร็จแล้วอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ฟลูออไรด์คงอยู่ในช่องปากให้ได้นานที่สุด

2. รับประทานอาหารบำรุงฟัน

สำหรับสารอาหารที่ช่วยบำรุงฟันได้นั้นมีหลายชนิด ได้แก่

  • เส้นใยอาหาร ช่วยขัดผิวฟันและกำจัดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก กระตุ้นการผลิตน้ำลาย พบได้ในข้าวกล้อง, ข้าวซ้อมมือ, คะน้า, ตำลึง, กล้วย, ส้ม
  • คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ช่วยลดคราบหินปูน พบได้ในข้าวกล้อง, ข้าวโอ๊ต, กล้วย, ฟักทอง, แตงโม, ถั่วแดง, มันเทศ
  • วิตามิน A ช่วยสร้างเมือกให้เยื่อบุผิวในช่องปากและทำให้ช่องปากผลิตน้ำลาสำหรับชะล้างสิ่งสกปรกและบำรุงเหงือกให้แข็งแรง พบได้ในน้ำมันตับปลา, ตับไก่, ผักใบเขียว, มะละกอ, มะม่วงสุก
  • วิตามิน C ช่วยรักษาโครงสร้างเหงือกและส่วนอื่น ๆ ภายในช่องปาก ป้องกันเหงือกอักเสบและเลือดออกตามไรฟัน พบได้ในส้ม, สัปปะรด, สตรอว์เบอร์รี, บรอกโคลี, ใบมะระจีน, ผักกาดขาว
  • แคลเซียม (Calcium) และฟอสฟอรัส (Phosphorus) ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน พบได้ในนมวัว, หอยนางรม, ผักใบเขียว, ถั่วเหลือง, โยเกิร์ต
  • น้ำเปล่า การดื่มน้ำเปล่าวันละ 8 – 10 แก้ว (ประมาณ 2,000 มิลลิลิตร) จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของสารเคลือบฟัน สำหรับเด็กที่มีอายุ 1-8 ปี ควรดื่มปริมาณ 1,000 – 2,100 มิลลิลิตร, สำหรับเด็กผู้ชายที่มีอายุ 9 – 18 ปี ควรดื่มปริมาณ 1,700 – 3,375 มิลลิลิตร ส่วนเด็กผู้หญิงที่มีอายุ 9 – 18 ปี ควรดื่มปริมาณ 1,600 – 2,775 มิลลิลิตร

3. เข้าพบหมอฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน

แม้ว่าจะไม่มีอาการปวดฟันแต่การเข้าพบหมอฟันเป็นประจำทุก 6 เดือนจะช่วยให้ฟันน้ำนมของลูกน้อยแข็งแรงยิ่งขึ้น อย่าลืมนะคะว่าฟันน้ำนมมีสารเคลือบฟันที่แข็งแรงน้อยกว่าฟันแท้ หากเด็กมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น นอนกัดฟัน ดูดนิ้วมือบ่อย ใช้ฟันกัดสิ่งของต่าง ๆ ที่ไม่ใช่อาหาร แปรงฟันน้อยกว่าวันละ 2 ครั้งหรือไม่แปรงฟันเลยใน 1 วัน ชอบทานอาหารหรือขนมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเป็นประจำ อาจทำให้สารเคลือบฟันเสื่อมไวกว่าปกติและทำให้แบคทีเรียในช่องปากสร้างกรดและเกิดคราบหินปูนไวกว่าเด็กคนอื่น ดังนั้นการเข้าพบคุณหมอเพื่อขูดหินปูนและตรวจเช็กสุขภาพช่องปากโดยรวมเป็นประจำทุก 6 เดือนจะช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพช่องปากได้ในอนาคต (หากเด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงบ่อย ๆ แนะนำให้ตรวจเช็กทุก 3 เดือนค่ะ) หรือหากลูกน้อยรู้สึกปวดฟันก็ควรเข้าพบคุณหมอทันที

จัดฟันน้ำนมที่ไหนดี

หากคุณมีปัญหาช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นฟันซ้อนฟันเก ฟันห่าง ฟันสบผิดปกติ หรือกำลังมองหาคลินิกสำหรับดูแลฟัน เรา Tooth Luck Detal Clinic เป็นคลินิกทันตกรรมสำหรับเด็กและทุกคนในครอบครัว เรามีทีมทันตแพทย์พร้อมให้บริการทันตกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจัดฟัน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ฟอกสีฟัน ขูดหินปูน อุดฟัน รักษารากฟัน รากฟันเทียม วีเนียร์ ฟันปลอม และบริการทันตกรรมสำหรับเด็ก มาพร้อมเครื่องมือที่ทันสมัย ได้มาตรฐาน และครบครัน ทั้งนี้ก็เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ๆ และชาวจังหวัดขอนแก่นอย่างแท้จริง

ทำไมต้องทำฟันที่-Toothluck

รีวิวจัดฟันใส Invisalign กับ Tooth Luck dental clinic คลินิกทำฟัน จัดฟัน ขอนแก่น

บทความที่น่าสนใจ